โรคเอดส์
15/07/2557 จำนวนคนอ่าน 4041 ครั้ง
เอดส์ เราอยู่ร่วมกันได้ ไม่ติดง่ายอย่างที่คิด เอดส์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเชื้อนี้จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในระบบโลหิต เชื้อรา ฯลฯ
โอกาสที่เราจะรับเชื้อนี้ได้มาจาก ๓ ทางหลัก ๆ คือ
-
การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (ไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือถุงยางอนามัยสตรี)
-
การรับเชื้อทางเลือด ที่สำคัญคือ การใช้เข็มและกระบอกฉีดยาร่วมกัน
-
การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีและได้รับยาต้านไวรัสก่อนคลอดและใช้นมผสมแทนการให้นมแม่ มีโอกาสถ่ายทอดเชื้อแก่ลูกเพียงประมาณร้อยละ ๑ - ๒
โอกาสเสี่ยงในการรับและถ่ายเชื้อเอชไอวีขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้
-
ปริมาณและแหล่งที่อยู่ของเชื้อ จะต้องได้รับเชื้อเอชไอวีปริมาณมากพอ พบมากในน้ำคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในเลือด
-
คุณภาพของ เชื้อเอชไอวี ที่สามารถถ่ายทอดกันได้ คือ เชื้อที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น เชื้อที่อยู่นอกร่างกาย บนพื้น หรืออยู่ในสัตว์อื่น ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้
-
ช่องทางการติดต่อ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเอดส์
-
ยุงกัดทำให้ไม่ติดเชื้อ เนื่องจาก เชื้อเอชไอวีไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในยุงได้ ปากยุงมีขนาดเล็กมาก เวลากัดคน มักจะไม่มีเลือดติดอยู่
-
คนที่สุขภาพแข็งแรง อาจจะมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายได้ ระยะแรกผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่นได้ ทราบได้โดยการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น
-
การมีคู่นอนเพียงคนเดียวที่ไม่ติดเชื้อ
-
ถุงยางอนามัย / ถุงอนามัยสตรี สามรถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ได้
-
การับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี / ผู้ป่วยเอดส์ไม่ทำให้ติดเอดส์ เนื่องจากเชื้อเอชไอวีมีมากในเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดและน้ำนม ส่วนน้ำลายมีปริมาณเชื้อน้อยมากจนไม่ทำให้ติดเชื้อ แม้จะเล็ดลอดลงไปในกระเพาะอาหาร น้ำย่อยในกระเพาะซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดจะทำลายเชื้อนี้ได้
เราจะได้รับบริการอะไรบ้างจากการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี
-
ได้รับบริการปรึกษาเรื่องเอชไอวี / เอดส์ ประเมินพฤติกรรมเสี่ยงและรู้วิธีป้องกัน เข้าใจขั้นตอนการตรวจและความหมายของผลเลือด ได้รับข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจตรวจเลือดด้วยความสมัครใจ ลดความวิตกกังวล และเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี / เอดส์ มากขึ้น
-
เมื่อตรวจพบว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการปรึกษาเพื่อการป้องกันที่เหมาะสมของตนเองและคู่ และการแนะนำเพื่อการตรวจซ้ำในการณีที่จำเป็น
-
หากตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการปรึกษาเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจสุขภาพและตรวจระดับภูมิคุ้มกัน การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการรับเชื้อเพิ่มและป้องกันคนที่เรารัก การวางแผนชีวิต ปรึกษาเกี่ยวกับการช่วยเหลือและสวัสดิการต่าง ๆ
บริการปรึกษาและตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี
-
คลินิคนิรนาม สภากาชาดไทย โทร. ๐ ๒๒๕๖ ๔๑๐๗ – ๙ (จันทร์ - ศุกร์ เวลา ๐๗.๓๐ - ๑๘.๐๐ น. เสาร์ เวลา ๐๗.๓๐ - ๑๕.๐๐ น.)
-
สถาบันบำราศนราดูร โทร. ๐ ๒๕๙๐ ๓๗๓๗ (จันทร์ – ศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.)
-
สายด่วนปรึกษาเอดส์ ๑๖๖๓
-
โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ตรวจเลือดเอดส์ปีละ ๒ ครั้ง ฟรี ได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
( สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทรศัพท์ ๐-๒๕๙๐-๓๒๘๙, ๓๒๙๑)